คลังเก็บป้ายกำกับ: รถยนต์ 10 ปีต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง?

รถยนต์ 10 ปีต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง?

ใช้รถมาถึง 10 ปีถือว่าอยู่ในช่วงที่ต้องดูแลมากขึ้น หลายคนอยากรู้ว่ารถยนต์ 10 ปีต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง?

รถยนต์ 10 ปี ต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง
  • รถยนต์ 10 ปีต้องเปลี่ยน
  • น้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมันเครื่อง
  • ไส้กรองอากาศ
  • ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง
  • น้ำมันเบรก
  • น้ำหล่อเย็น
  • น้ำมันเกียร์
  • ท่อยางต่างๆ
  • น้ำมันพวงมาลัย
  • หัวเทียน
  • สายพานไทม์มิ่ง

น้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมันเครื่อง

นี่คือสิ่งพื้นฐานที่ต้องเปลี่ยนเป็นประจำอยู่แล้วตามระยะการใช้งานรถยนต์ 5000 – 10,000 กิโลเมตร รถยนต์เมื่อครบระยะเวลา 10 ปีก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน สาเหตุที่เราต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเป็นประจำก็เพราะว่าเศษสิ่งสกปรกเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการทำงานของเครื่องยนต์ จะเข้าไปอยู่ในน้ำมันเครื่อง และการสะสมสิ่งสกปรกมากเกินไปจะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอได้ การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดการสึกหรอของเครื่องยนต์

ใช้น้ำมันเครื่องแบบไหนดี? ใช้ได้ทุกประเภททั้งน้ำมันเครื่องธรรมดาทั่วไป ใช้ได้ประมาณ 3000  กิโลเมตร น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ ใช้ได้นาน  5000 -10,000 กิโลเมตร และน้ำมันเครื่องสังเคราะห์อยู่ได้นานมาก คุณภาพดีกว่า น้ำมันเครื่องยิ่งดีก็จะยิ่งแพงตามเกรดที่ใช้ แนะนำให้ใช้เกรดที่เหมาะสมกับรถยนต์ก็เพียงพอแล้ว

ไส้กรองอากาศ

ไส้กรองอากาศที่สกปรกก็เหมือนจมูกที่อุดตัน ทำให้เครื่องยนต์หายใจลำบากขึ้น และอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์  รถยนต์ 10 ปีควรเปลี่ยนไส้กรองอากาศ ยิ่งจอดรถหรือขับรถในสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีฝุ่นมาก การเปลี่ยนไส้กรองอากาศทุก 10,000 กิโลเมตรถือเป็นเรื่องที่ดี

ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง

หากไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงอุดตัน เครื่องยนต์จะสตาร์ตติดยาก เครื่องอืด เร่งไม่ขึ้น  ควรเปลี่ยนทุก 20,000 กิโลเมตร รถยนต์ 10 ปีก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน

น้ำมันเบรก

น้ำมันเบรกเมื่อใช้ไปนานๆ  ประมาณ 40,000 – 50,000 กิโลเมตร หรือ 2 ปีขึ้นไป จุดเดือดของน้ำมันเบรกจะลดลง และสามารถเปลี่ยนเป็นก๊าซได้ ทำให้เหยียบเบรกลึกขึ้น  ลองสังเกตดูว่าเวลาเหยียบเบรกกว่ารถยนต์จะหยุดได้ ระยะเบรกยาวขึ้นกว่าเดิมไหม?  ผ้าเบรกมีเสียงดังเนื่องจากการสึกหรอจนถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้วหรือไม่ เมื่อรถยนต์ครบ 10 ปี ควรเปลี่ยนน้ำมันเบรกและอาจเปลี่ยนผ้าเบรกไปพร้อมกันด้วยก็ได้

น้ำหล่อเย็น

น้ำและสารหล่อเย็นจะไหลผ่านหม้อน้ำเครื่องยนต์ของรถ เพื่อรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมไม่ให้รถยนต์ร้อนจัดเกินไป ใช้ไปนานๆ คุณภาพการช่วยลดอุณหภูมิจะลดลง รวมถึงปริมาณน้ำจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ  หากน้ำหล่อเย็นไม่เพียงพอหรือเริ่มเสื่อมคุณภาพ อาจทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัดได้ และสร้างความความเสียหายลุกลามไปไกลกว่าที่คิดมาก น้ำหล่อเย็นเปลี่ยนตอนไหนดี? ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อย ส่วนใหญ่เปลี่ยนกันที่ 100,000 กิโลเมตร หรือรถยนต์อายุ  8 –  10 ปี

น้ำมันเกียร์

น้ำมันเกียร์ช่วยการทำงานของเกียร์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนรถยนต์ ใช้ไปนานๆ น้ำมันเกียร์จากสีชมพูสดใสจะกลายเป็นเป็นสีน้ำตาล และอาจได้กลิ่นไหม้ น้ำมันเกียร์ควรเปลี่ยนตอนไหน น้ำมันเกียร์ราคาไม่แพง ควรเปลี่ยนทุก 50,000 กิโลเมตร หรือทุก 2 ปี

ท่อยางต่างๆ ภายในรถยนต์

เมื่อท่อยางต่างๆ มีอายุมากขึ้น อาจมีรอยแตกเกิดขึ้นได้ ลองเปิดฝากระโปรงรถยนต์และตรวจสอบท่อยางต่างๆ ภายในรถ ว่ามีส่วนไหนที่เริ่มปริร้าว หรือมีของเหลวไหลซึมออกจากท่อยางส่วนไหนบ้าง ก็ให้เปลี่ยนท่อยางส่วนนั้น

น้ำมันพวงมาลัย

รถรุ่นใหม่ยุคนี้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันพวงมาลัยอีกแล้ว แต่ถ้ารถยนต์คุณยังใช้ระบบเดิม รถยนต์ 10 ปีก็สมควรจะเปลี่ยนน้ำมันพวงมาลัย

หัวเทียน/ระบบจุดระเบิด

รถยนต์รุ่นใหม่หัวเทียนใช้งานได้นานมาก เนื่องจากใช้หัวเทียนอิริเดียมหรือไททาเนียม อยู่ได้นานจนถึง 100,000 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ถ้าเป็นรถยนต์รุ่นเก่า ใช้หัวเทียนแบบธรรมดา อายุการใช้งานจะน้อยกว่านี้ ทั้งนี้หากรถยนต์สตาร์ตติดนานขึ้น หัวเทียนคือส่วนหนึ่งที่ช่วยเรื่องระบบจุดระเบิด อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยนเสียที

สายพานไทม์มิ่ง

สายพานไทม์มิ่งควรตรวจสอบเมื่อรถยนต์ใช้งานไปแล้ว 100,000 กิโลเมตร รถยนต์อายุ 10 ปีขึ้นไปก็ถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่ควรเปลี่ยน  เนื่องจากหากสายพานเกิดขัดข้องหรือขาดระหว่างการเดินทางจะทำให้รถเสียหายหนักมาก ค่าซ่อมหลักหมื่นต้องมาแน่นอน  ดังนั้นควรเปลี่ยนก่อนที่จะเกิดเหตุ หากตรวจสอบแล้วว่าเริ่มเสื่อมคุณภาพ ให้รีบเปลี่ยนทันที อย่ารอเวลาเป็นอันขาด


รถยนต์ 10 ปีต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง? รถยนต์อายุการใช้งาน 10 ปีถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ จำเป็นต้องเปลี่ยนหลายอย่างมากกว่าระยะการใช้งานปกติ แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้ยืดอายุการใช้งานรถยนต์ให้ยาวนานต่อไปอีก

รถยนต์สมัยนี้หากดูแลดีๆ เราสามารถใช้สบายๆ ได้เกิน 10 ปีอย่างแน่นอน  ตอนจ่ายเงินให้พยายามปลอบตัวเองว่า “เสียเงินค่าดูแลรถยังดีกว่าเสียเงินค่าซ่อมรถยนต์”

ขอบคุณภาพปก freepik